Black Kite Count 2014

New Balance 997.5 For Sale New Balance 997.5 For Sale

​ทุ่งนาบ้านท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก มีหนองน้ำสาธารณะ ต้นยูคาลิปตัสขึ้นเป็นดงอยู่กลางน้ำ ทุกปีตั้งแต่เดือนตุลาคม เหยี่ยวหูดำอพยพจะย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยเป็นแหล่งพักนอนในเวลากลางคืนตลอดฤดูหนาว จากการสำรวจของกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี พบว่ามีเหยี่ยวหูดำ/เหยี่ยวดำใหญ่ อย่างน้อย 1,900 ตัว ซึ่งเป็นแหล่งพักนอนที่พบเหยี่ยวหูดำมากที่สุดในประเทศไทย
​เหยี่ยวหูดำบางตัวเดินทางผ่านประเทศไทย พบตามจุดชมเหยี่ยวอพยพในภาคใต้ ไปถึงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์แต่ส่วนใหญ่จะเรียกบ้านเราว่าบ้านไปจนถึงเดือนพฤษภาคมแล้วจะอพยพกลับถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ทางเหนือเพื่อทำรังวางไข่ ซึ่งในช่วงรอยต่อฤดูร้อน-ฤดูฝนนี้ ดงเหยี่ยวดำปากพลีก็หาได้ว่างจากนักล่าผู้สง่างามกลางเวหาไม่ เพราะปากพลีมีของดีในธรรมชาติอีกอย่าง เหยี่ยวดำไทย หรือเหยี่ยวดำประจำถิ่น Milvus migrans govinda เหยี่ยวไคท์ที่รูปลักษณ์ผอมเพรียวได้รูปกว่าเหยี่ยวหูดำที่ตัวบึกบึนเทอะทะกว่าเป็นไหนๆ ยามร่อนลมลนฟ้า หางยาวปลายหางเว้าเหมือนหางปลาตะเพียน ชวนให้นึกถึงว่าว หรือ Kite ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเหยี่ยวไคท์
​ที่ดงเหยี่ยวดำปากพลี มีประชากรของเหยี่ยวดำไทยหลายสิบตัว แต่ก็ตกเป็นเหยื่อของคนเห็นแก่ตัวไม่กี่คน ที่หวังอามิสไม่ละอายต่อกฏหมายและสามัญสำนึก ปีนขึ้นไปขโมยลูกเหยี่ยวดำไทย เพื่อมาขายให้คนอีกกลุ่มที่รักสัตว์ป่าอย่างเห็นแก่ตัว คือรักต้องเอามาเลี้ยง ไม่ปล่อยให้สัตว์ป่าอยู่ในป่าในธรรมชาติ ถิ่นอาศัยในควรจะอยู่เพื่อทำหน้าที่ในระบบนิเวศ ช่วยล่าหนูนา แมลง และสัตว์ศัตรูพืชเกษตรอีกมาก
​เพราะกระแสอุปสงค์อุปทานนิยมเลี้ยงเหยี่ยว จึงมีคนเสาะหาเหยี่ยวมาขาย ส่งผลให้เหยี่ยวดำไทย ลดจำนวนลงและตกอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อสูญพันธุ์ไม่แพ้นกนักล่าขนาดใหญ่ เช่น อีแร้ง
​หากเป็นนิมิตหมายดีที่ชุมชนบ้านท่าเรือ ดงเหยี่ยวดำปากพลีมีท่าทีต่อสัตว์ป่าของชาติที่สอดคล้องกับกฏหมายและการอนุรักษ์สากล จะจัดให้มีงานเทศกาลต้อนรับเหยี่ยวอพยพในวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2557 เชิญชวนนักท่องเที่ยวไปชมพฤติกรรมของเหยี่ยวหูดำนับพันตัว ที่ยามเย็นจะบินกันมาเกาะนอนบนต้นยูคาลิปตัสอย่างพร้อมเพรียงก่อนดวงอาทิตต์จะลับขอบฟ้า อีกทั้งดงเหยี่ยวดำ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร บนถนนสายหลักมุ่งหน้าไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่เห็นความสำคัญของการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สัตว์ป่าอย่างถูกต้องสอดคล้องกับสากล เลี้ยงโดยไม่ต้องเลี้ยง รักแต่ไม่ครอบครอง เปิดโอกาสให้เยาวชนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของเหยี่ยวหูดำ และเหยี่ยวดำไทยที่ดงเหยี่ยวปากพลี ด้วยประสบการณ์ตรงได้สัมผัสและเข้าหาธรรมชาติด้วยตนเอง หรือนึกสนุกจะร่วมอาสาช่วยกันนับจำนวนเหยี่ยวด้วยก็ อีกทั้งหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะนำเหยี่ยวขาว ที่ฟื้นฟูสุขภาพแข็งแรงแล้วไปปล่อยคืนธรรมชาติด้วย พบกันที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์อาชีพแบบพอเพียง ใกล้ดงเหยี่ยวดำ ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เวลา 9.30 น สอบถามรายละเอียดการเดินทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครนายก โทร. 037-312282 ครับ.